suttasilo โพสต์ 2021-1-26 15:20:27

ศาสนพิธี ตอนที่๑ อารัมภบท พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ

ศาสนพิธี ตอนที่๑ อารัมภบท พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะธรรมศีกษาชั้นตรี : ระดับประถมศึกษา
eY5xulDSfAg
ความหมายของศาสนพิธี
            ศาสนพิธี มาจากคำว่า “ศาสน” หรือ “ศาสนา” คือ คำสอน กับคำว่า “พิธี” คือ แบบอย่าง หรือแบบแผนต่าง ๆ รวมเป็นคำว่า ศาสนพิธี หมายถึง แบบอย่าง หรือแบบแผนต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติในทางพระศาสนา                     ท่านผู้รู้บางท่านเปรียบพิธีกรรมหรือศาสนพิธีว่าเป็นเหมือนเปลือกหรือกระพี้ที่ห่อหุ้มแก่นของต้นไม้ คือ แก่นแท้ของศาสนาไว้แต่ความจริงทั้งสองส่วนนี้จะต้องอาศัยกันและกันกล่าวคือหากไม่มีแก่นแท้ของศาสนาศาสนพิธีก็อยู่ไม่ได้นานหรือหากมีเฉพาะแก่นแท้ของศาสนา แต่ไม่มีศาสนพิธีแก่นแท้ของศาสนาก็อยู่ได้ไม่นาน เช่นเดียวกับต้นไม้ที่มีแต่เปลือกไม่มีแก่นหรือมีแต่แก่นไม่มีเปลือก ฉะนั้น
องค์ประกอบของศาสนา            ศาสนา แปลว่า คำสอน หมายถึงหลักธรรมคําสอนของศาสดาผู้ก่อตั้งศาสนานั้นๆ รวมทั้งหลักธรรมคำสอนของศาสนาที่ไม่มีศาสดาผู้ก่อตั้ง            ศาสนาโดยทั่วไปมีองค์ประกอบที่สําคัญ ๕ ประการคือ            ๑. ศาสดา ผู้ก่อตั้งศาสนาศาสนาที่มีผู้นับถือมากเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทยและได้รับการรับรองจากทางราชการ คือ ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม สิกข์หรือซิกข์ล้วนมีศาสดาผู้ก่อตั้งศาสนาทั้งสิ้น ยกเว้นศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเท่านั้นไม่มีศาสดาผู้ก่อตั้งเป็นศาสนาที่นับถือสืบต่อกันมาแต่โบราณ            ๒. ศาสนธรรม หลักธรรมคําสอนที่ศาสดาประกาศเผยแผ่แก่ชาวโลก            ๓. ศาสนิกหรือสาวก คือผู้รับฟังหลักธรรมคำสั่งสอนที่ศาสดาประกาศแล้วมีศรัทธาเลื่อมใสและปฏิบัติตาม            ๔. ศาสนสถานหรือศาสนวัตถุ คือสถานที่ใช้ประกอบพิธีของศาสนานั้นๆ หรือรูปเคารพของศาสดา เป็นต้น            ๕. ศาสนพิธี คือ พิธีกรรมทางศาสนาซึ่งแตกต่างกันไปตามความเชื่อในหลักธรรมคําสอน
            ศาสนพิธีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทีหลังศาสนา หมายความว่า มีศาสนาเกิดขึ้นก่อนแล้วจึงมีพิธีกรรมต่าง ๆ เกิดตามมาภายหลัง            เหตุเกิดศาสนพิธีเนื่องจากหลักการของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อันเรียกว่า “โอวาทปาฏิโมกข์” ในโอวาทปาฏิโมกข์นั้น มีหลักการสำคัญที่ทรงวางไว้เป็นหลักทั่วๆ ไป ๓ ประการ คือ            ๑. สอนไม่ให้ทำความชั่วทั้งปวง            ๒. สอนให้อบรมกุศลให้ถึงพร้อม            ๓. สอนให้ทำจิตใจของตนให้ผ่องใส         การพยายามทำตามคำสอนในหลักการนี้เป็นการพยายามทำความดีที่เรียกว่า ทำบุญ และการทำบุญนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงวัตถุคือที่ตั้งแห่งการทำบุญไว้โดยย่อ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ มี ๓ ประการ คือ            ๑. ทาน    การบริจาคสิ่งของของตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น            ๒. ศีล      การรักษากายวาจาให้สงบเรียบร้อย ไม่ล่วงพุทธบัญญัติที่ทรงห้าม            ๓. ภาวนา การอบรมจิตใจให้ผ่องใสในการกุศล            บุญกิริยาวัตถุนี้ เป็นแนวทางให้พุทธบริษัทประพฤติตามหลักการที่กล่าวข้างต้นและเป็นเหตุให้เกิดศาสนพิธีต่างๆ ขึ้นโดยนิยม
ประโยชน์ของศาสนพิธี            ๑. ทำให้พิธีมีความถูกต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย สำเร็จประโยชน์ตามวัตถุประสงค์            ๒. ทำให้เกิดศรัทธาความเลือมใสแก่ผู้พบเห็น            ๓. เป็นเครื่องแสดงเกียรติยศของเจ้าภาพและผู้ร่วมงานพิธี            ๔. รักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชาติ            ๕. สามารถจรรโลงให้พระพุทธศาสนามีความเจริญยั่งยืนสืบไป
พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ            การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ คือ การประกาศตนยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของตนสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือพุทธมามกะว่าการแสดงตนให้ปรากฎว่า เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาได้ทำกันมาตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาลเป็นกิจจำเป็นทำสมัยคราวที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นใหม่ เพื่อแสดงให้รู้ว่าตนละลัทธิเดิม รับเอาพระพุทธศาสนาเป็นที่นับถือ   โดยใจความ หมายถึง พิธีแสดงตนเป็นชาวพุทธอย่างเป็นทางการนั่นเอง            การแสดงตนเป็นพุทธมามกะมีวัตถุประสงค์ต่างกัน โดยสมควรแก่บริษัทดังนี้            ๑. ผู้เป็นบรรพชิตนอกพระพุทธศาสนามาก่อน มาทูลขอบรรพชาอุปสมบทพระพุทธเจ้าจะทรงประทานอุปสมบทด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา แม้คฤหัสถ์ก็ทรงรับโดยวิธีเดียวกัน            ๒. ผู้มาขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระสาวก รับถือเพศตามพระสาวกก่อนแล้วเปล่งวาจาถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ๓ ครั้ง เรียกว่า ติสรณคมนูปสัมปทา ต่อมาใช้เป็นพิธีบรรพชาสามเณร            ๓. คฤหัสถ์ผู้ไม่ประสงค์จะบวช ปฏิญาณตนถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะชายเป็นอุบาสก หญิงเป็นอุบาสิกา หรือมิได้กล่าวปฏิญาณตน แต่นับถือสืบกันมา ได้กราบไหว้บูชาสัการะตามประเพณีก็ได้เช่นกัน            การแสดงตนเป็นพุธมามกะไม่จำเพาะต้องทำคราวเดียวทำซ้ำหลายครั้งก็ได้เพื่อให้มั่นคงยิ่งขึ้น            โดยสรุปจำแนกเป็น ๒ ประเภทตามวัตถุประสงค์ของผู้นับถือ คือ            ๑. เป็นพุทธมามกะด้วยการบรรพชาอุปสมบทเป็นนักบวช            ๒. เป็นพุทธมามกะด้วยการแสดงตนเป็นอุบาสก-อุบาสิกา            การแสดงตนเป็นพุธมามกะแบบที่ ๒ นี้ แต่เดิมไม่มีรูปแบบตายตัวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงส่งพระราชโอรสไป ศึกษาในยุโรปหลายพระองค์ (รวมทั้งเจ้าขุนมูลนายก็นิยมส่งบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศกันมากเช่นกัน) พระราชโอรสบางพระองค์ยังทรงพระเยาว์และไม่เคยผนวชเป็นสามเณรมาก่อน พระองค์ทรงปริวิตกว่า พระราชโอรสยังไม่รู้สึกมั่นคงในพระพุทธศาสนา จึงจึงทรงโปรดให้พระราชโอรสผู้ไม่เคยผนวชเป็นสามเณร ปฏิญาณพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาก่อนเสด็จออกไปศึกษาในยุโรปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระองค์แรกที่ปฏิญาณพระองค์ ตามธรรมเนียมที่ทรงตั้งขึ้นใหม่นั้นผู้อื่นนอกจากพระราชวงศ์เห็นชอบตามพระราชดำริจึงได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อป้องกันลูกหลานไม่ให้หันไปนับถือศาสนาอื่นจึงทรงกำหนดพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะขึ้นและได้ยึดถือเป็นแบบปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน เรียกว่า ทัฬหีกรรม            ด้วยเหตุนี้การแสดงตนเป็นพุทธมามกะจึงพอสรุปวัตถุประสงค์ได้ดังนี้            ๑. เมื่อบุตรหลานของตนเจริญวัยอยู่ในระหว่างอายุ ๑๒-๒๕ ปี ประกอบพิธีให้บุตรหลานของตนแสดงตนเป็นพุทธมามกะเพื่อให้เด็กสืบทอดความเป็นพุทธศาสนิกชนตามสกุลวงศ์            ๒. เมื่อบุตรหลานซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้วไปศึกษาในประเทศที่นับถือศาสนาอื่น นิยมประกอบพิธีให้บุตรหลานแสดงตนเป็นพุทธมามกะเพื่อต้องการให้เด็กระลึกถึงตนอยู่เสมอว่าเป็น พุทธศาสนิกชน            ๓. เมื่อจะปลูกฝังให้เยาวชนมั่นคงในพระพุทธศาสนาโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนชาวพุทธนิยมนำนักเรียนที่เข้ารับการศึกษาใหม่ หรือรวมทั้งหมดก็ได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะปีละ ๑ ครั้งเพื่อให้นักเรียนเห็นความสำคัญในการนับถือพระพุทธศาสนา            ๔. เมื่อบุคคลที่นับถือศาสนาอื่น เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาต้องการประกาศตนนับถือพระพุทธศาสนา   ก็ประกอบพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะเพื่อประกาศตนว่านับแต่นี้ไป ข้าพเจ้ายอมรับนับถือพระพุทธศาสนา
หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: ศาสนพิธี ตอนที่๑ อารัมภบท พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ